หากจะพูดถึงชา ทุกคนคงรู้จักเป็นที่สองรองจากกาแฟแน่นอน “ชา”เป็นเครื่องดื่มที่สามารถทานได้ทุกช่วงวัย ไม่ว่าจพะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ เป็นต้น และเป็นเครื่องดื่มที่สามารถหาได้ตามร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อไม่แพ้จากกาแฟเช่นเดียวกัน
ซึ่ง “ชาเขียว” และ “ชาไทย” ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า แตกต่างกันแค่สีของชา แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของชาทั้งสองชนิด มีที่มาไม่เหมือนกัน วันนี้ YAO จะมาอธิบายถึงความแตกต่างของชาทั้งสองชนิดนี้กัน
จุดกำเนิด “ชาไทย”
ชาไทย เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สามารถพบได้ทั่วไปในร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา ด้วยความโดดเด่นของสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ของชาไทยที่มาพร้อมกับรสชาติหอมเข้มของชาแดง ผสานเข้ากับความหวานของน้ำตาลทราย และความนุ่มนวลของนมสด จึงทำให้ชาไทยเป็นเมนูที่ช่วยดับกระหายและลดความเผ็ดร้อนของอาหารไทยได้เป็นอย่างดี
ต้นกำเนิดของชาไทยมาจากการใช้ใบชาซีลอน แล้วนำมาปรับแต่งสี กลิ่น และรสชาติให้หอมหวานถูกปากคนไทยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มชาของคนไทยก็สืบทอดมาจากวัฒนธรรมจีนที่ส่งต่อมาจากคนจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในไทยจนมีคนไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง
ชาไทย “ทำไมต้องใส่นม”
สืบเนื่องมาจากตอนที่ชาได้เข้ามา ประเทศไทยก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศอินเดียอยู่เช่นกัน จึงได้รับอิทธิพลในการเติมนมและน้ำตาลลงในชามาด้วย จนเกิดเป็นสี “ส้ม” สะดุดตา และต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการก่อตั้งโรงน้ำแข็งเป็นแห่งแรก ทำให้น้ำแข็งถูกเติมเข้าไปเพื่อเพิ่มความเย็นสดชื่นให้กับเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงชาไทยอีกด้วย จนกระทั่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ร้านกาแฟโบราณมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนทั่วไปเริ่มรู้จักชาไทยในรูปแบบที่มีการใส่นมและน้ำตาลจนคุ้นชินมาถึงทุกวันนี้
จุดกำเนิด “ชาเขียว”/ ชาเขียว มาจากญี่ปุ่น จริงหรือไม่
ชาเขียว มีต้นกำเนิดมาจากประเทศ “จีน” มากกว่า 4,000 ปีมาแล้ว เหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในด้านการผลิตใบชาคุณภาพ เกิดขึ้นจากนักบวชชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Eichu จากวัด Bonshakuji ในจังหวัดไอจิ ได้เดินทางไปเป็นทูตเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากประเทศจีนรวมทั้งได้ศึกษาเรื่องยาสมุนไพรจากจีน จนได้รู้จัก “ชา” แล้วจึงนำกลับมาถวายจักรพรรดิซางะ
เมื่อจักรพรรดิซางะได้ดื่มชาก็ชื่นชอบในรสชาติมาก รวมไปถึงสรรพคุณชาเขียวที่ดีต่อสุขภาพ จนได้มีการชงชาดื่มกันในหมู่ชนชั้นสูงเรื่อยมาจนถึงผู้คนทั่วไป ชาวญี่ปุ่นจึงได้มีการปลูกเพราะต้นชา และคิดค้นกรรมวิธีการผลิตชาเขียวชนิดต่างๆ อาทิ มัทฉะ เซนฉะ เกนไมฉะ เคียวคุโระ ฯลฯ รวมไปถึงพิธีชงชาหรือที่เรียกว่า ที่เรียกว่า ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou) ที่โด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย
ประโยชน์ของ “ชาไทย” และ “ชาเขียว”
ผลิตภัณฑ์ทั้งสองตัวมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นผลผลิตที่มีต้นกำเนิดมาจากต้นชา (Camellia Sinensis) ด้วยกันทั้งคู่ (แต่ชาไทยบางแห่งก็มาจากใบเมี่ยง) ฉะนั้นหากพูดถึงประโยชน์ชาเขียวหรือชาไทย ล้วนมีข้อดีที่เหมือนกัน ซึ่งการดื่มชามีข้อดีดังนี้
- ต้านอนุมูลอิสระในชาประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ทรงพลังหลายชนิด โดยเฉพาะ Epigallocatechin gallate (EGCG) สารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์แรงมากกว่าวิตามินอีถึง 20 เท่า คาเทชินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถจับกับอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น การดื่มชาจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเหล่านี้ได้
- รักษาสุขภาพช่องปาก สารโพลิฟีนอล (Polyphenols) ในน้ำชาจะช่วยยับยั้งเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ที่สามารถก่อโรคในช่องปากและทำให้ฟันผุได้ นอกจากนี้ยังมีสารคาเทชินที่ช่วยเคลือบฟันให้แข็งแรงป้องกันฟันผุ แต่การดื่มชาในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ฟันเหลืองได้
- ช่วยป้องกันเบาหวาน ข้อดีของสารโพลิฟีนอลนั้นยังช่วยป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสไว้ ส่งผลให้ย่อยแป้งชาลงและช่วยให้ร่างกายเพิ่มขึ้นระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างช้าๆ ไม่เร็วจนเกินไป
- ช่วยการทำงานของระบบประสาท ชามีสาร L-Theanine ที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้สมองปล่อยคลื่นสมองอัลฟา (Alpha Brain Wave) มากขึ้น และลดคลื่นสมองเบต้า (Beta Brain Wave) ทำให้ช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด ส่งเสริมให้มีสมาธิมากขึ้น ไม่หงุดหงิดง่าย ลำดับความคิดเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น